จำนวนการดู

การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย..เริ่มอย่างไร?

 การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย 


เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกลางแจ้งที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งวัสดุที่ใช้จะเป็นสิ่งที่เหลือจากการทำการเกษตร โดยจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ ฟางข้าวเปลือกถั่วเขียว ขี้เลื่อย ผักตบชวา ทลายปาล์ม เปลือกมันสำปะหลัง และก้อนเห็ดถุงที่เก็บผลผลิตหมดแล้วเป็นต้น บางทีอาจใช้หญ้าชนิดต่าง เช่น หญ้าคา หญ้าขน หรือชานอ้อย เป็นวัสดุเพาะก็ได้ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก สำหรับวิธีการเพาะนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานเดียวกันแต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญได้แก่ การคัดเลือกเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดี การปรับสภาพแวดล้อม เช่นอุณหภูมิ ความชื้น แสง เป็นต้น ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของเกษตรกรนั่นเอง

วัสดุและอุปกรณ์

1. วัสดุเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว ผักตบชวา ทลายปาล์ม เปลือกถั่วเขียว เปลือกมันสำปะหลัง ขี้เลื่อย หรือก้อนเห็ดถุงที่เก็บผลผลิตหมดแล้ว
2. อาหารเสริม ได้แก่ ไส้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวาตากแห้ง ฝักถั่วเหลือง มูลสัตว์ ผสมดินร่วนในอัตราส่วน 2:1 หรือ 1:1
3. ไม้แบบ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านบนกว้าง 30 เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง 35เซนติเมตร ยาว 120 - 150 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร สำหรับไม้แบบที่ใช้วัสดุเพาะเป็นเปลือกถั่วเขียว เปลือกมันสำปะหลัง จะมีขนาดเล็กกว่าขึ้นอยู่กับความสะดวกในการเคลื่อนย้าย นอกจากนั้น ยังต้องมีแผ่นไม้สำหรับกดให้วัสดุเพาะแน่น แทนการเหยียบย่ำเหมือนกับการเพาะด้วยฟาง
4. น้ำ ควรเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน กลิ่นเน่าเหม็น ไม่เป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย
5. พลาสติกที่ใช้ในการคลุมกองเห็ดควรใช้ชนิดใสหรือพลาสติกถุงปุ๋ย ถ้าหาไม่ได้ก็ให้ใช้กระสอบปุ๋ยแทนแต่ต้องนำ ไปล้างน้ำให้ปราศจากความเค็มของปุ๋ย เพราะความเค็มจะทำให้เห็ดชะงักการเจริญเติบโตได้
6. อุปกรณ์การให้น้ำ จอบและเสียม
7. เชื้อเห็ดฟาง ต้องเป็นเชื้อที่เพิ่งใส่เชื้อเห็ดในถุงใหม่ๆ ทิ้งไว้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพื่อให้เส้นใยหนาแน่น
8. เศษฟาง เศษหญ้าแห้ง แผงหญ้าคา สำหรับคลุมกองเพาะเห็ด เพื่อพรางแสงแดด
และช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในกองฟาง
9. สถานที่สำหรับเพาะ เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยนั้น ต้องเพาะบนพื้นดิน ดังนั้นพื้นที่จะต้องเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง และต้องไม่เคยเป็นที่เพาะเห็ดฟางมาก่อน 1-2 เดือนไม่มีมด ปลวก ไม่ควรเพาะในที่เป็นดินเค็ม นอกจากนั้นสถานที่เพาะต้องไม่มีสารเคมีตกค้างมาจาก การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและควรทำการไถพรวน หรือขุดหน้าดินขึ้นตาก ก่อนทำการเพาะประมาณ 7-10 วัน


ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟาง1. ทำวัสดุเพาะรวมทั้งอาหารเสริมทุกชนิดไปแช่น้ำให้โชกเสียก่อน ยกเว้นอาหารเสริมที่ได้จากมูลสัตว์ผสมดิน ไม่ต้องแช่น้ำ ฟางข้าว ควรแช่น้ำ 1 คืน ไส้นุ่น ไส้ฝ้าย ผักตบชวา แช่ 1-2 ชั่วโมง
2. ปรับดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม วางแบบพิมพ์ลงบนดิน
3. ใส่ฟางลงไปให้หนา 8-12 เซนติเมตร ใช้มือกดให้แน่น หรืออาจจะเหยียบสัก 1-2 เที่ยว
4. ใส่อาหารเสริมบริเวณขอบโดยรอบกว้าง 5-7 เซนติเมตร
5. โรยเชื้อเห็ดโดยรอบบนอาหารเสริม เชื้อเห็ดที่ใช้ควรขยี้ให้แตกออกจากกันเสียก่อน เป็นอันเสร็จในชั้นที่ 1 เมื่อเสร็จแล้วก็ทำชั้นต่อไป โดยทำเช่นเดียวกับชั้นแรก คือใส่ฟางลงไปในแบบไม้หนา 8-12 เซนติเมตร กดให้แน่นใส่อาหารเสริมโรยเชื้อ ถ้าเป็นฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
ควรทำ 4-5 ชั้น ฤดูร้อนควรทำ 3 ชั้น
6. เมื่อทำกองฟางเสร็จแล้ว รดน้ำบนกองให้โชกอีกครั้ง ถอดแบบพิมพ์ เพื่อนำไปใช้เพาะกองต่อไป
7. การโรยเชื้อชั้นสุดท้าย ใช้เชื้อเห็ดฟางผสมกับอาหารเสริมโรยรอบกอง ทั้งนี้จะทำให้ได้ดอกเห็ดเกิดระหว่างกอง เป็นการเพิ่มปริมาณดอกเห็ด นอกเหนือจากที่ได้จากกองเพาะเห็ดการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ควรจะทำกองใกล้ๆกัน ห่างกันประมาณ 1 คืบ โดยกองขนานกันไป 10-20 กอง เพื่อทำให้อุณหภูมิและความชื้น ของกองไม่เปลี่ยนแปลงเร็วนัก
8. คลุมด้วยพลาสติกใสหรือทึบ การคลุมกองให้คลุมทั้งหมดในแปลงด้วยพลาสติก 2 ผืนโดยให้ขอบด้านหนึ่งทับกันบริเวณหลังกอง จากนั้นใช้ฟางแห้งคลุมทับพลาสติกอีกที หรืออาจทำแผงจาก ปิดไม่ให้แสงแดดส่อง ถึงกองฟางโดยตรง ก่อนการคลุมด้วยพลาสติกอาจทำโครงไม้เหนือกอง เพื่อไม่ให้พลาสติกติดกอง แล้วปิดด้วยฟางหลวมๆก่อน ในฤดูร้อนแดดจัดหลังจากสามวันแรกควรเปิดพลาสติกหลังกองกว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนปิดไว้อย่างเดิม ในวันที่ 4-5 ให้ตรวจดูความชื้น ถ้าเห็นว่าข้างและหลังกองแห้งมากให้ใช้บัวรดน้ำ รดเบาๆให้ชื้น แล้วปิดไว้อย่างเดิม แต่ปกติแล้วการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยหลังจากปิดด้วยพลาสติกและฟางแล้วก็มักไม่ต้องทำอะไร แต่ควรปรับความชื้นให้เพียงพอก่อนปิดพลาสติก ประมาณวันที่ 7-9 ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้

การเพาะเห็ดฟางโดยใช้เปลือกถั่วเขียว1.การเตรียมพื้นที่ ควรใช้จอบดายหญ้าบริเวณที่จะเพาะเห็ดฟางพร้อมกับมี การขุดและพรวนดินคล้ายการเตรียมดินปลูกผัก การพรวนดินนับว่ามีความสำคัญมากเพราะการเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้ จะมีเห็ดฟางเจริญเติบโตบนพื้นดินมาก ถ้ามีการเตรียมดินอย่างดี ก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตเห็ดฟางได้อย่างมาก
2. การเตรียมเปลือกถั่วเขียวที่จะใช้เพาะเห็ด ควรเป็นเปลือกถั่วเขียวที่ผ่านการนวดใหม่ๆ และต้องแห้งสนิท เพราะถ้ายังชื้น อยู่จะมีราชนิดอื่น เจริญปะปนไม่ควรที่จะนำมาใช้เพาะเห็ด ก่อนทำการเพาะควรนำ เปลือกถั่วเขียวมาแช่น้ำให้ดูดความชื้นประมาณ 1 ชั่วโมง โดยให้แช่ในถังน้ำมัน 200 ลิตร ผ่าซีกก็ได้
3. นำแบบไม้มาวางบนแปลงที่เตรียมไว้ รดน้ำจนชุ่ม แล้วนำเปลือกถั่วเขียวใส่ลงไปในไม้แบบ ใช้มือเกลี่ยให้สม่ำเสมอ และกดให้แน่นพอสมควรโดยให้ชั้นของเปลือกถั่วเขียวหนาประมาณ 10 เซนติเมตร และใช้บัวรดน้ำรดบนเปลือกถั่ว เพื่อให้เปลือกถั่วจับกันแน่นพอสมควร จากนั้นจึงยกแบบไม้ออก และทำกองต่อไป ให้ห่างจากกองเดิมประมาณ 1 คืบ ในแปลงเพาะเห็ดหนึ่งๆ จะทำกองเปลือกถั่วเขียวประมาณ 9-12 กอง
4.หลังจากกองเปลือกถั่วเขียวเสร็จในแต่ละแปลง ควรพรวนดินระหว่างกองเปลือกถั่ว และพื้นที่รอบๆ กองทั้งหมด พร้อมกับนำอาหารเสริม พวกมูลสัตว์ผสมกับละอองข้าวในอัตรา 1:1 โดยปริมาตรคลุกเคล้ากับดินรอบๆแปลง(อาจใช้รำหยาบหรือรำละเอียดแทนก็ได้) จากนั้นจึงรดน้ำให้ชุ่ม
5.การโรยเชื้อเห็ด ให้นำเชื้อเห็ดมาขยี้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาโรยบนอาหารเสริมรอบๆกองเปลือกถั่วเขียว ตามปกติจะใช้เชื้อเห็ดฟาง 1 ถุง ต่อกองเปลือกถั่วเขี้ยว 5-6 กอง โดยพยายามโรยเชื้อเห็ดฟางให้ชิดกับกองเปลือกถั่วเขียว
6.การคลุมพลาสติก ให้ใช้พลาสติกที่มีความกว้างประมาณ 1 เมตร คลุมกองเปลือกถั่วในลักษณะแบนราบทั่วทั้งแปลง จากนั้นจึงใช้จากหรือหญ้าคาคลุมทับแปลงเพาะเห็ดเพื่อป้องกันแสงแดด พลาสติกที่คลุมจะช่วยรักษาความชื้น และอุณหภูมิในแปลงเพาะเห็ดให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย เห็ดฟางต้องระวังอย่าให้กองเปลือกถั่วถูกลมโกรกให้คลุมกองเปลือกถั่วเขียวไว้ประมาณ 4 วัน
7.หลังจากโรยเชื้อเห็ดได้ 5 วัน ควรเอาจากหรือหญ้าคาที่คลุมแปลงออก และเปิดพลาสติกคลุมกองให้อากาศระบายถ่ายเท เข้าไปในแปลงเห็ดพร้อมกับนำไม้ไผ่มาโก่งเสียบที่ขอบแปลงเป็นโครง แปลงหนึ่งๆจะใช้โครงไม้ไผ่ประมาณ 4 อัน แล้วใช้พลาสติกคลุมลงบนโครงไม้ไผ่ และใช้จากหรือหญ้าคาคลุมทับอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันแสงแดด ในระยะนี้ถ้ากอง เปลือกถั่วแห้งเกินไปก็รดน้ำให้ความชื้นแก่กองเปลือกถั่วได้ ทั้งนี้เพราะเส้นใยของเห็ดยังไม่มีการพัฒนาไปเป็นตุ่มดอกเห็ด แต่ถ้าเส้นใยรวมตัวกันเป็นตุ่มดอกเห็ดเล็กๆ ถ้ารดน้ำจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อเสียหายได้ต้องระมัดระวังให้มาก
8.หลังจากการเพาะเห็ดได้ 8-9 วันเส้นใยของดอกเห็ดจะพัฒนาเป็นดอกเห็ดเล็กๆเท่าหัวเข็มหมุด ควรเพิ่มความชื้นให้แก่แปลงเห็ดโดยใช้หัวฉีดที่ใช้สำหรับฉีดสารเคมี ฉีดน้ำให้เป็นฝอยแต่ต้องระวังอย่าให้ถูกดอกเห็ดโดยตรงเพราะจะทำให้ดอกเห็ดเน่าได้
9.การเก็บผลผลิตหลังจากเพาะเห็ดได้ 11-13 วัน ดอกเห็ดจะมีขนาดโตพอที่จะเก็บไปจำหน่ายได้ ควรเลือกดอกระยะดอกตูม การเก็บผลผลิตรุ่นแรกจะให้ผลผลิตสูงมาก ส่วนรุ่นที่สองจะลดลง
การเพาะเห็ดฟางโดยใช้เปลือกมันสำปะหลัง
1.การเตรียมพื้นที่ ปรับพื้นที่ให้เรียบเพื่อไม่ให้มีน้ำขัง เก็บเศษวัชพืชในแปลงออกให้หมด
2.การเตรียมเพาะเห็ดฟาง ขุดดินแปลงเพาะให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ขนาดความกว้างของแปลงประมาณ 80 เซนติเมตร ขนาดความยาวของแปลงประมาณ 5.6-7.8 เมตร หลังจากนั้นพรวนดิน ในแปลงเพาะพร้อมทั้งคราดปรับระดับให้สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง
3.วิธีการและขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟางจากเปลือกมันสำปะหลัง
รดน้ำให้ชุ่มทั่วทั้งแปลง
ขึงเชือกหัวแปลง-ท้ายแปลงด้านใดด้านหนึ่งตามความยาวของแปลง
อัดเปลือกมันลงในบล็อกไม้แบบให้แน่น รดน้ำลงในแบบที่อัดเปลือกมัน ถอดบล็อกออก และนำแบบไปตั้งกองใหม่ใส่เปลือกมัน ให้เสร็จทั้งแปลงในลักษณะเดียวกัน โดยห่างกันกองละ 20 เซนติเมตร จะได้กองเปลือกมัน 30-40 กองต่อแปลง
พรวนดินระหว่างช่องว่างของกองเปลือกมันให้ทั่วทั้งแปลง
หว่านปุ๋ยคอกให้ทั่วทั้งแปลง ในอัตราส่วน 1-2 ปี๊บต่อแปลง
รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นนำเอาเชื้อเห็ดฟางใส่กะละมัง ขยี้เชื้อเห็ดฟางให้แตกออกจากกัน โดยใช้เชื้อเห็ดฟาง 15-20 ถุงต่อแปลง
โรยเชื้อเห็ดฟางระหว่างช่องว่างของกองเปลือกมัน ให้ทั่วและรดน้ำให้ชุ่ม
ปักโครงไม้ไผ่ 15-20 อันต่อแปลง
คลุมด้วยพลาสติกใสตลอดแปลงให้มิดชิด พร้อมกับคลุมหลังแปลงด้วยเศษฟางหรือหญ้าแห้ง
4.การดูแลรักษา
หลังเพาะเห็ดฟางได้ 3 วัน ใช้บัวรดน้ำรดแปลงเพาะเห็ดในตอนเย็น เพื่อตัดเส้นใยไม่ให้เดินต่อ โดยใช้น้ำรด 6-8 บัวต่อแปลง
ก่อนเก็บผลผลิตทุกครั้งให้ รดน้ำแปลงเพาะเห็ดในตอนเย็นและเก็บผลผลิตในตอนเช้า
5.การเก็บผลผลิตเห็ดฟาง สามารถเก็บผลผลิตได้ หลังจากเพาะประมาณ 7-10 วัน และจะสามารถเก็บผลผลิตได้ติดต่อกัน 3-4 วัน ซึ่งจะให้ผลผลิตรวมประมาณ 30-35 กิโลกรัมต่อแปลง
การเพาะเห็ดฟางโดย ใช้ขี้เลื่อยและผักตบชวา
การเพาะเห็ดฟางโดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราและผักตบชวาสด ทำให้ทุ่นแรงงานและเวลาในการตากผักตบชวา และเป็นการใช้วัสดุเพาะที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาเพาะเห็ด ฟางแทนที่จะใช้ฟางข้าวซึ่งมีน้อยและมีราคาแพง นิยมเพาะใต้ร่มไม้ในสวนยาง สวนปาล์ม การเพาะทำได้ดังนี้
1.วางแบบพิมพ์ไม้ลงบนพื้นราบ
2.แช่ขี้เลื่อยไม้ยางพาราให้ชุ่ม (4-8 ชั่วโมง) และใส่ลงในแบบไม้หนา 5-7 เซนติเมตร ใส่ผักตบชวาที่หั่นเป็นท่อนยาว 5-7 นิ้ว หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วจึงโรยเชื้อเห็ดฟาง โดยโรยชั้นละประมาณ 1/3 ของถุง
3.ทำชั้นที่ 2,3,4 และ5 เช่นเดียวกับการทำชั้นที่ 1
4.ถอดแบบพิมพ์ออกแล้วใช้กิ่งไม้ขนาดเท่าดินสอดำ หรือใช้ไม้ไผ่ทำโครงกองละ 5-6 อันเพื่อใช้ค้ำพลาสติกไม่ให้พลาสติกติดหลังกอง
5.คลุมด้วยพลาสติกและแผงจาก
6.การดูแลรักษาและเก็บผลผลิตเห็ดก็เช่นเดียวกับการเพาะด้วยฟาง
การเพาะเห็ดฟางโดยใช้ทลายปาล์ม
1.เตรียมวัสดุเพาะดังนี้
- ทลายปาล์ม 1 คันรถ
- ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 1 กระสอบปุ๋ยต่อ 1 คันรถ
- บล็อกไม้ใช้ไม้ 1.5 * 3 นิ้ว ทำเป็นบล็อกกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร
- พลาสติกสีเทาความยาว 320 เซนติเมตร ต่อ 1 บล็อก
- ใช้เชื้อเห็ดฟาง 6-7 ถุง ต่อ 1 บล็อก
- ใช้ไม้ไผ่ทำโครงความยาว 180 เซนติเมตร
2.วิธีการเพาะ เพาะใต้ร่มไม้เหมือนการใช้ผักตบชวา นำทลายปาล์มมา 1 คันรถ หมักโดยรดน้ำให้เปียกประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง วันละ 1 ครั้ง เสร็จแล้วเอาพลาสติกสีดำคลุมให้มิดชิดทำอย่างนี้ 4 วัน แล้วคลุมพลาสติกทิ้งไว้อีก 12-15 วัน พอถึงวันเพาะให้เอาบล็อกวางลงพื้นแล้วเทขี้เลื่อยลงในบล็อก กวาดให้เรียบ เอาทะลายปาล์มวางลงให้เต็มบล็อกรดน้ำให้เปียกโรยเชื้อเห็ดให้ทั่วเสร็จแล้วใช้น้ำรดให้ทั่วประมาณ 1 บัวรดน้ำ เอาพลาสติกคลุมให้ติดพื้นจากนั้นอีกประมาณ 8-10 วัน ให้ทำโครงไม้ไผ่สูงประมาณ 60 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้พลาสติกติดกองเห็ด ต่อมาประมาณ 2-3 วัน ก็เก็บดอกเห็ดได้ จากวันเพาะจนถึงวันเก็บประมาณ 10-20 วัน แล้วแต่สภาพอากาศ ถ้าฝนตกมากดอกเห็ดจะเกิดช้ากว่าประมาณ 2-5 วัน


 การเพาะเห็ดฟางโดยใช้ก้อนเห็ดถุงที่เก็บผลผลิตหมดแล้ว 
1.เตรียมสถานที่ เตรียมดินให้เรียบ กำจัดวัชพืชออก จากนั้นฉีดน้ำลงบนดินให้เปียกชุ่มทิ้งไว้ 1 คืน
2.แช่ฟางข้าว ถ้าเป็นปลายฟางควรแช่ไว้ประมาณ 1 คืน หรือฉีดน้ำบนกองฟาง
แล้วเหยียบให้เปียกชื้นแล้วใช้พลาสติกคลุมไว้ 1 คืน
3.นำก้อนเห็ดที่เตรียมไว้มาใส่ใน แบบไม้โดยวางแบบไม้ด้านกว้างลงบนพื้นดิน แล้วนำก้อนเห็ดมาเรียงใน แบบให้ปากถุงชนกับด้านข้างของแบบไม้ส่วนกว้าง เรียงจนเต็ม ใช้มีดโต้สับถุงเห็ดให้ขาดพอประมาณ
4.หลังจากสับถุงแตกหมดแล้วนำฟาง ที่แช่ไว้มาวางทับลงบนถุงเห็ดเพียงบางๆหนาประมาณ 1 เซนติเมตร โดยวางให้ติดขอบกระบะ
5.นำอาหารเสริมคือ ไส้นุ่นหรือผักตบชวาตากแห้ง แช่น้ำให้ชุ่มแล้วนำมาโรยบนกองเพาะจากขอบเข้าไปประมาณ 2 นิ้วโดยรอบ แล้วโรยน้ำลงบนกองเพาะประมาณครึ่งบัวรดน้ำ
6.นำเชื้อเห็ดฟางที่ยีแล้วโรยบนกองเพาะ โดยโรยเฉพาะเพียงขอบกอง เป็นอันเสร็จชั้นที่ 1
7.ทำแบบเดียวกับข้อ 3-6 เป็นชั้นที่ 2และ3 แล้วนำแบบออกเป็นอันเสร็จ 1 กอง เริ่มทำกองใหม่โดยเว้นระยะห่างกัน 6 นิ้ว ในฤดูร้อนและฤดูฝนควรห่างประมาณ 10-20 นิ้ว ทำต่อไปประมาณ 8 กอง หรือแล้วแต่ความเหมาะสม ระหว่างกองควรพรวนดินและโรยเชื้อเห็ดด้วย (2กองใช้เชื้อเห็ดฟาง 3 ถุง)
8.เมื่อทำเสร็จ 1 แปลงหรือ 8 กองรดน้ำอีกครั้ง แล้วนำพลาสติกคลุมแปลงเพาะ แล้วคลุมด้วยฟางหรือเศษหญ้าแห้งอีกครั้งเพื่อป้องกันแสงแดด
9.การดูแลรักษากองเพาะ
ในช่วงเวลา 3 วันแรกไม่ต้องทำอะไรกับกองเพาะเลย เพียงแต่คอยระวังอย่าให้ไก่หรือสัตว์อื่นๆเข้าไปรบกวนกองเห็ด
วันที่ 4 ตอนเช้าให้เปิดกองเพาะทั้งสองข้างขึ้น ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงปิด หลังจากนั้นเปิดพลาสติกตรงกลางออกกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรประมาณ 10 นาที แล้วจึงคลุมเหมือนเดิม การเปิดพลาสติกออกเพื่อเป็นการระบายความร้อน
ในวันที่ 5-7 ช่วงเช้าและเย็นควรเปิดออกเพื่อเป็นการระบายความร้อน แต่ถ้าดินแห้งควรเอาน้ำรดบริเวณที่แห้ง ไม่ควรให้กระทบกระเทือนดอกเห็ด 9.4 ถ้าดอกเห็ดโตพอประมาณควรเก็บได้ ไม่ควรปล่อยไว้ให้ดอกบานจะเสียราคา
10.การเก็บดอกเห็ด จะเก็บได้หลังจากเพาะเห็ดแล้ว 7 วัน ขึ้นอยู่กับความร้อนและฤดูกาล ในฤดูร้อนและฝนดอกเห็ดจะเก็บเห็ดได้เร็วกว่าฤดูหนาว เห็ดจะออกดีในเดือนมีนาคม -กรกฎาคม
11.วิธีเก็บให้ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้เก็บดอกเห็ดแล้วหมุนเล็กน้อย ยกขึ้นเบาๆดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย ถ้าดอกเห็ดออกเป็นกลุ่มให้สังเกตว่าในกลุ่มนั้นมีดอกโต พอประมาณที่จะเก็บได้มากกว่าก็ควรเก็บได้ทั้งกลุ่มเลย และไม่ควรให้กระทบกระเทือนดอกเห็ดที่ยังเก็บไม่ได้ เพราะอาจทำให้เห็ดดอกอื่นช้ำและฝ่อได้ สำหรับผลผลิตต่อกองเฉลี่ยแล้วกองละประมาณ500 กรัมขึ้นไป

Credit : กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / บ้านเห็ด 111

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น