จำนวนการดู

เห็ดโคนญี่ปุ่น


เห็ดโคนญี่ปุ่น Yanagi Mutsutake

เห็ดโคนญี่ปุ่น Yanagi Mutsutake

เห็ดโคนญี่ปุ่น (ยานางิ)
ชื่ออื่น Yanagi Mutsutake (เห็ดยานากิ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Agrocybe cylindracea (Dc. Ex. Fr.) Maire.
สายพันธุ์ สีขาว , สีน้ำตาลเข้ม

ดอกเห็ดมีสีน้ำตาลอ่อน จนถึงน้ำตาลออกส้ม ก้านดอกสีขาวเนื้อแน่น รสชาติของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะเป็น
เอกลักษณะเฉพาะตัว คือจะมีหมวกดอกที่เหนียวนุ่มเหมือนเห็ดหอม แต่บริเวณขาของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะกรอบอร่อย เห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดที่ใช้ประกอบอาหารได้ดีโดยเฉพาะก้านดอกซึ่งมีเนื้อเยื่อยาวและแน่น เวลาเคี้ยว จะได้รสชาติดีคล้ายเห็ดโคน ทำอาหารได้ทั้งผัด ยำ และต้มแกง ไม่เสียรูปร่างของเห็ด ให้คุณค่าทางอาหารสูงเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่นๆ

การทำให้เกิดดอกเห็ดและเก็บเกี่ยว

เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุง ย้ายก้อนเชื้อเห็ด ไปยังโรงเรือนเพื่อเปิดดอก อุณหภูมิภายในโรงเรือนประมาณ 25-30 ํC และความชื้นประมาณ 80-90 % การเปิดดอกโดยถอดจุกสำลีออก นำถุงก้อนเชื้อมาวางเรียงไว้บนชั้นเพาะ ในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีในช่วงเช้า และบ่าย จะให้น้ำก้อนเชื้อ และบริเวณภายในโรงเรือน วันละประมาณ 2 ครั้ง เพื่อให้มีความชื้นสม่ำเสมอหลังเปิดดอกประมาณ 5-7 วันจะเกิดดอกเห็ด และสามารถนำไปบริโภคได้

เห็ดยานางิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เดิมเป็นเห็ดที่เกิดในท่อนไม้ผุตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการศึกษา และพัฒนาการเพาะเลี้ยงในเมล็ดธัญพืช แล้วเปลี่ยนมาเป็นขี้เลื่อย ที่เพิ่มอาหารเสริมในอัตราที่เหมาะสม ทำให้เห็ดชนิดนี้เจริญได้ดีในเวลาต่อมา เห็ดยานางิ เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี โดยมีลักษณะเนื้อดอก ก้านดอก มีความกรอบแน่น เนื้อคล้ายเห็ดโคน กลิ่นหอมนิยมใช้ประกอบอาหารหลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 1 สัปดาห์โดยยังมีความสด รูปร่าง ขนาดน้ำหนัก และสีสันไม่เปลี่ยนแปลง การเพาะเลี้ยง สามารถกระทำได้ง่าย เหมือนการเพาะเห็ดถุงทั่วไป และยังเพาะเลี้ยง ได้ตลอดปี จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่มีอนาคต

ปัญหาอุปสรรค

ปัญหาอุปสรรคของการทำเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่นนี้ ก็คือเรื่องของศัตรูเห็ด อันได้แก่แมลงหวี่
ซึ่งก็จะกินเส้นใยและไข่เป็นตัวหนอน วิธีการป้องกันกำจัดก็คือใช้กาวดัก ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลผลิตที่ได้ของเห็ดแต่ละก้อนมีการกระจายตัวไม่ดีในรอบปี บางช่วงสูงบางช่วงต่ำบางฤดูจะมีปริมาณมาก บางฤดูจะมีปริมาณน้อย ซึ่งทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดการระบบตลาด

การนำไปประกอบอาหาร

เห็ดโคนญี่ปุ่น สามารถที่จะนำมาประกอบอาหารเหมือนกับเห็ดโดยทั่ว ๆ ไป เช่น แกงเลียงเห็ดโคน ต้มยำเห็ดโคนญี่ปุ่น ยำเห็ดโคนกุ้งสด เส้นแก้ว หรือ วุ้นเส้น ชุบแป้งทอด เห็ดโคนผัดน้ำมันหอย หรือกุ้งสด และทำซาลาเปาไส้เห็ด แต่ถ้าเราจะเก็บเอาไว้บริโภคเองนาน ๆ เราก็ต้องนำมาแปรรูป เช่น
1. นำมาต้มซีอิ๊วหรือดองเค็ม ก็สามรรถที่จะเก็บอาไว้บริโภคได้นานแล้ว
2. นำมาทำเป็นส่วนผสมของน้ำพริกต่าง ๆ เช่นน้ำพริกเผาเห็ดโคนญี่ปุ่น และที่สำคัญเป็นอาชีพของ
สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรด้วย
3. นำมาแปรรูปเป็นเห็ดหย็อง เก็บไว้บริโภค ได้นาน และมีรสชาติอร่อยคงเดิม

คุณค่าทางอาหาร

ดอกสด 100 กรัม
ให้ความชื้น 89.90 โปรตีน 2.73
ไขมัน 0.048 คาร์โบไฮเดรต 5.08
เยื่อใย 0.487 เถ้า 0.677
แคลเซี่ยม 6.44 เหล็ก 1.60
ฟอสฟอรัส 83.56 วิตามินบี 1 0.006
วิตามินบี 2 0.15 ไนอาซิน 3.11

สรรพคุณทางยา

- ต้าน และ ป้องกันมะเร็ง ลดไขมัน และโคเลสเตอรอลในเลือด
- ช่วยล้างพิษที่สะสมในตับ พิษพวกอนุมูลอิสระ อัลฟาท็อกซิล
- ทำให้ตับแข็งแรง สามารถทำงานได้ดีขึ้น ทำให้อารมณ์ดี การสร้างเม็ดเลือดแดงดี

Article Credit : นางดวงภรณ์ โตอนันต์ | นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ / บ้านเห็ด 111

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น