เห็ดนางรมฮังการี |
เห็ดนางรมฮังการี
"เห็ดนางรม" (Oyster Mushroom ) เป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางถิ่นประเทศแถบยุโรป เห็ดพวกนี้เจริญเติบโต ได้ดีในพวกไม้โอ๊ค (oak) ไม้เมเปิ้ล (maple) ไม้พืช (peach) ฯลฯ และสามารถเจริญเติบโตได้ทั่วไปในเขตอบอุ่น ต่อมาได้มีการนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงในประเทศไทย พบว่า เห็ดชนิดนี้สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย จึงได้มีการเผยแพร่วิธีการเพาะเห็ดชนิดนี้จนเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เห็ดนางรมจัดเป็นเห็ดที่ประชาชนนิยมรับประทานกันมาก ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดนางรมมีลักษณะคล้ายเห็ดมะม่วง หรือเห็ดขอนขาวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้ที่ผุพัง ประกอบกับเห็ดนางรมเป็นเห็ดที่มีสีขาวสะอาดมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีรสชาติหอมหวาน นอกจากนี้เนื้อของเห็ดนางรมยังไม่เหนียวมากเหมือนเห็ดมะม่วงหรือเห็ดขอนขาว ที่สำคัญคือ "เห็ดนางรม" มีสารบางอย่างที่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ จึงทำให้ประชาชนรู้จักเห็ดชนิดนี้เป็นอย่างดี เห็ดนางรม หรือOyster mushroom จัดได้ว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน ไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ นอกจากนี้เห็ดนางรมยังให้ปริมาณแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซี่ยม และยังให้พลังงานค่อนข้างสูง เห็ดนางรม มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 สูงกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ และยังมีกรดโฟลิคสูงกว่าพืชผักและเนื้อสัตว์กรด พวกนี้ช่วยป้องกันรักษาโรคโลหิตจางได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยังเหมาะต่อผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักเพราะเห็ดมีปริมาณของไขมันน้อยและมีปริมาณโซเดียมต่ำ จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคไตอักเสบ ประกอบกับเห็ดนางรมที่เพาะง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงได้มีการเพาะเห็ดนี้กันอย่างแพร่หลาย
คุณค่าอาหาร
เห็ดนางรม 100 กรัม ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
โปรตีน 2.1 กรัม
ไขมัน 0.3 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม
แคลเซียม 4 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 61 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
ไนอะซิน 2.7 มิลลิกรัม
วิตามินซี 21 มิลลิกรัม
วิธีการเพาะ
1. ผสมวัสดุเพาะทั้งหมดเข้าด้วยกัน และทดสอบความชื้นให้พอเหมาะโดยจะมีความชื้นประมาณ 75 - 80%
2. บรรจุวัสดุเพาะลงในถุง ถ้าเป็นวัสดุเพาะเป็นขี้เลื่อยใช้ถุงขนาด 6.5x12.5 นิ้ว หนัก800 - 1,000 กรัม ถ้าวัสดุเพาะเป็นฟางหมักควรใช้ถุงขนาด 7x13 นิ้ว แล้วอัดวัสดุให้แน่นแต่ละถุงจะมีน้ำหนักประมาณ ถ้าเป็นฟางหมัก 6-8 ขีด ถ้าเป็นขี้เลื่อยประมาณ 600 - 800 กรัมเสร็จแล้วใส่คอขวดรัดด้วยยางรัดปิดด้วยจุกสำลี
3. นำถุงก้อนเห็ดที่บรรจุแล้วไปนึ่งฆ่าเชื้อ โดยใช้หม้อนึ่ง 2 แบบ คือ
3.1 หม้อนึ่งฆ่าเชื้อแบบลูกทุ่ง หรือหม้อนึ่งไม่อัดความดัน โดยใช้ถัง 200 ลิตรบรรจุครั้งละ 100 ถุง นึ่งนาน 1.5-2 ชั่วโมง หรือหม้อนึ่งที่ประกอบด้วยเหล็กแผ่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมบรรจุถุงได้ตั้งแต่ 500-5,000 ถุง โดยใช้ระยะเวลาในการนึ่งประมาณ 4-10 ชั่วโมง
3.2 การนึ่งแบบมีความดัน จะเป็นถังที่สามารถทนความร้อนสูงได้ 121 องศาเซลเซียส และมีความดันประมาณ 15 - 18 ปอนด์/ตารางนิ้ว ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 2 - 3ชั่วโมง
การปลูกเชื้อเห็ดลงถุง เปิดจุกสำลีออกแล้วใช้เชื้อเห็ดในเมล็ดธัญพืชหยอดลงไปประมาณ 20 เมล็ด แล้วปิดด้วยกระดาษนำไปบ่มให้เส้นใยเห็ดเดินต่อไป ระยะเวลาการบ่มเส้นใย เห็ดนางรมและนางฟ้าภูฐาน จะใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน ส่วนเห็ดนางฟ้าและเห็ดเป๋าฮื้อ จะใช้เวลา ประมาณ 45 - 50 วัน
การเปิดดอก เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุงหรือใช้เวลาในการบ่มได้ที่แล้ว นำถุงก้อนเชื้อเห็ดเข้าในโรงเรือนเปิดดอกและดึงกระดาษที่ปิดหน้าถุงออก เพิ่มความชื้นภายในโรงเรือนให้ได้ ประมาณ 80 - 85% โดยการฉีดพ่นน้ำ เป็นละอองฝอย วันละ 2 - 3 ครั้ง จากนั้นประมาณ7 - 10 วัน ดอกเห็ดก็จะเริ่มออกและเก็บได้ ก่อนเก็บผลผลิต ควรงดการให้น้ำเพราะเห็ดจะเปียกชื้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
การเก็บเกี่ยว
ทำการดึงดอกเห็ดที่ออกจากหน้าถุงเมื่อโตเต็มที่อยู่ในระยะที่ยังไม่บาน สังเกตจากขอบดอกเห็ดยังงุ้มอยู่ โดยดึงดอกเห็ดให้หลุดออกจากถุงทั้งกลุ่มไม่ให้เหลือโคนติดที่ถุง เพราะจะทำให้หน้าถุงเน่าทำให้มีเชื้อราอื่นหรือมีแมลงหวี่เข้าทำลาย
Credit : สถานีเห็ด / บ้านเห็ด 111
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น