ภูมิปัญญาชาวบ้าน #วิธีการทดสอบเห็ดมีพิษ
ให้นำน้ำสะอาดใส่ในหม้อแล้วนำไปต้มบนไฟให้เดือดจัด หลังจากนั้นให้ใส่เห็ดที่เก็บมาได้หรือเห็ดที่ต้องสงสัยว่าจะมีพิษลงไปใน หม้อน้ำเดือด
จากนั้นใส่เมล็ดข้าวสารลงไปเล็กน้อย ประมาณ 10-20 เมล็ด โดยปล่อยตั้งไฟทิ้งไว้ ประมาณ 10 นาที จึงยกลงจากไฟ ตั้งพักไว้ให้เย็น แล้วให้ตักเมล็ดข้าวสารขึ้นมาบีบดูว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
หาก เมล็ดข้าวสารแหลกหรือเปื่อยยุ่ยคามือ แสดงว่าเห็ดชนิดนั้นไม่มีพิษ สามารถนำมารับประทาน แต่ถ้าเมล็ดข้าวสารยังคงแข็งตัวอยู่ในสภาพเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะบดขยี้อย่างไรก็ตาม แสดงว่าเห็ดชนิดนั้นมีพิษ ห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด
ข้อสังเกตุเห็ดพิษ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การทดสอบเห็ดพิษแบบชาวบ้าน
วิธีการตรวจสอบเห็ดพิษแบบชาวบ้านต่อไปนี้ ถึงแม้จะไม่ถูกต้องนัก แต่ก็จัดว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่จะใช้ตรวจสอบว่าเห็ดชนิดไหนรับประทานได้
ชนิดไหนเป็นเห็ดพิษ ซึ่งจะนำมาใช้ได้เป็นบางส่วนหรือในบางโอกาส ดังต่อไปนี้
1. นำข้าวสารมาต้มกับเห็ด ถ้าไม่เป็นพิษข้าวสารจะสุก ถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ
2. ใช้ช้อนเงินคนต้มเห็ด ถ้าช้อนเงินกลายเป็นสีดำ จะเป็นเห็ดพิษ
3. ใช้ปูนกินหมากป้ายดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ
4. ใช้หัวหอมต้มกับเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะเป็นสีดำ
5. ใช้มือถูเห็ดจนเป็นรอยแผล ถ้าเป็นพิษรอยแผลนั้นจะเป็นสีดำ แต่เห็ดแชมปิญญองเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เมื่อเป็นแผลก็จะเป็นสีดำ
6. ดอกเห็ดที่มีรอยแมลงและสัตว์กัดกิน เห็ดนั้นไม่เป็นพิษ แต่กระต่ายและหอยทากสามารถกินเห็ดพิษได้
7. เห็ดที่เกิดผิดฤดูกาล มักจะเป็นพิษ แต่ในทุกวันนี้สามารถเพาะเห็ดได้ตลอดปี
8. เห็ดพิษมักจะมีสีฉูดฉาด เห็ดรับประทานได้จะมีสีอ่อน
การบริโภคเห็ดโดยทั่วไปควรปฏิบัติดังนี้
1. การรับประทานอาหารที่ประกอบ ขึ้นด้วยเห็ดควรจะ รับประทาน แต่พอควรอย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อย อาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
2. การปรุงอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ต้องระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออกก่อน เพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิด อาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน
3. อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุก ๆ ดิบ ๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้นและเป็น พิษร้ายแรงถึงกับเสีย ชีวิตได้ในภายหลัง
4. ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง รับประทานเฉพาะเห็ดที่รับประทาน ได้โดยไม่ แพ้หรือหลีกเลี่ยงจากการรับประทานเห็ด
5. ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา (แอลกอฮอล์) เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เห็ด Coprinus atramentrius แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ
การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยรับ ประทาน เห็ดพิษและเกิดอาการพิษขึ้นควรจะรู้จักวิธีปฏิบัติ ที่ถูกต้องกับผู้ป่วย แต่ตามชนบทมัก จะปฏิบัติกับผู้ป่วยผิด ๆ แล้วทำให้เสียชีวิตกันอยู่เสมอ อนึ่ง อาการพิษของเห็ดจะแสดงอาการหลังรับประทานแล้ว หลายชั่วโมงซึ่งพิษมักจะกระจายไปมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จัก วิธีปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยรีบด่วนต่อไป
การปฐมพยาบาลนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก
และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoalและดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จึงนำส่งแพทย์พร้อมกับ ตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
อนึ่ง ห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนักโดยพละการ วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ
หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้วให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่) หรืออาจจะทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในระหว่างนำส่งแพทย์ด้วยก็ได้
แนวทางการเก็บตัวอย่างเห็ดพิษส่งตรวจ
1. ควรเก็บจากแหล่งหรือพื้นที่เดียวกันกับที่ผู้ป่วยเก็บมารับประทาน2. เลือกเก็บดอกที่สมบูรณ์ ดอกยังไม่ช้ำและมีทั้งก้านดอกและราก
3. ก่อนเก็บเห็ด ควรถ่ายภาพเห็ดไว้ เพื่อประกอบในการพิจารณา ชนิดของเห็ด โดยมีขั้นตอนดังนี้
3.1 ถ่ายภาพแบบธรรมชาติ
3.2 กวาดเศษขยะรอบฯ ต้นเห็ดออก แล้วถ่ายภาพด้านบนดอก ด้านใต้ดอก และด้านข้างดอกทั้ง สี่ด้าน และควรมีสเกลบอกความกว้างความยาวของเห็ด แล้วจึงลงมือเก็บ โดยขุดให้ห่างจากลำต้น พอประมาณ ให้ได้รากด้วย หลังจากนั้นควรปักป้ายเตือน ไม่ให้มีการเก็บเห็ดในบริเวณนั้นไปรับประทาน
4. การนำส่งตรวจ เห็ดที่ส่งตรวจควรมีสภาพสมบูรณ์ มีดอก ลำต้นและราก และขณะนำส่งต้องรักษาสภาพของดอกไม่ให้ช้ำและเน่า โดยห่อดอกเห็ดด้วยกระดาษ (การห่อด้วยกระดาษจะช่วยไม่ให้ภายในห่อมีความชื้นซึ่งจะทำให้เห็ดเน่าเร็ว) ทำเป็นถุงหรือเย็บเป็น กระทงให้พอดีกับดอกเห็ด เพื่อไม่ให้ดอกเห็ดเคลื่อนไหวป้องกันการช้ำ หลังจากนั้นใส่ลงถุงพลาสติก เป่าลมให้ถุงพลาสติกพองแล้วใช้หนังยางรัดและบรรจุในกล่องโฟมก่อนส่ง ถ้าส่งถึงห้องปฏิบัติการภายในวันเดียวกัน ไม่ต้องแช่เย็น ถ้าส่งเกิน 1 วัน ให้เก็บ เห็ดไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 - 8 องศาเซลเซียล และควรรักษาความเย็นของเห็ดจนกว่าจะถึงปฏิบัติการ
5. ส่งตัวอย่างพร้อมใบนำส่งตัวอย่าง ควรมีรายละเอียดบริเวณที่เก็บเห็ด ว่าเห็ดขึ้นในบริเวณใด เช่น บริเวณบ้าน, สนามหญ้า , ในป่าใกล้ต้นไม้ชนิดใด ใกล้จอมปลวก หรือบนชานอ้อยเป็นต้น พร้อมอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย เพื่อใช้ประกอบการตรวจยืนยัน ชนิดและพิษของเห็ด
6. ส่งตัวอย่างมาที่สำนักระบาดวิทยาในวันและเวลาราชการ พร้อมแจ้งล่วงหน้าทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1779 เพื่อสำนักระบาดวิทยาจะได้ไปรับตัวอย่าง และส่งตัวอย่างไป ตรวจที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สถานที่ส่งตรวจ ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เบอร์โทรศัพท์ 02-5798558,02-5790147
เอกสารอ้างอิง
1. อนงค์ จันทร์ศรีกุล, นันทินี ศรีจุมปา. เห็ดพิษ สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย : 1-15.
2. พ.ท. ยงยุทธ ขจรวิทย์. วารสารสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย : 52-6.
แหล่งข้อมูล สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กลุ่มเฝ้าระวังและสอบสวนโรค
หนังสือเห็ดพิษ ของสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย (The Mushroomresearchers and Growers Society of Thailand.) พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2543.
3. บ้านเห็ด 111
ส่งตัวอย่างวิเคราะห์เห็ดมีพิษหรือไม่มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ครับ
ตอบลบส่งตัวอย่างวิเคราะห์เห็ดมีพิษหรือไม่มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ครับ
ตอบลบ